บทความข่าว บจธ. “ถวายฎีกาคือทางเลือกสุดท้ายของพรทิพย์ ก่อนมรดกชีวิตผืนสุดท้ายหลุดมือ”

ผลกระทบเศรษฐกิจในช่วงของการระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ทำให้ที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินก้อนสุดท้ายที่จะช่วยต่อลมหายใจให้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยได้อยู่รอดต่อไปได้ กลายเป็นปัญหาใหญ่เพิ่มขึ้น เมื่อเกษตรกรหลายรายกำลังจะสูญเสีย และหลายรายต้องสูญเสียสิทธิในที่ดินไปแล้ว แม้จะเกิดปัญหาก่อนสถานการณ์โควิด แต่หากไม่ได้รับความช่วยเหลือในวันนั้น ป้าพรทิพย์  ปัจฉิมานนท์ นึกไม่ออกว่าจะยากลำบากสาหัสขนาดไหน

เรื่องราวเริ่มต้นเมื่อปี 2556 ป้าพรทิพย์ อายุ 50 ปี มีอาชีพรับจ้าง ทำสวนยาง และสวนปาล์มน้ำมัน อยู่ที่ หมู่ 10 ต. นากระตาม อ. ท่าแซะ จ. ชุมพร ได้ทำสัญญายืมเงินและทำหนังสือสัญญาขายฝากที่ดิน พร้อมบ้านพักอาศัย ไว้กับผู้รับซื้อขายฝาก เพื่อนำเงินมาลงทุนและรับซื้อของเก่ามาขาย แต่ปรากฎว่า รายได้จากการรับซื้อของเก่ามีไม่เพียงพอจะผ่อนชำระ  ซ้ำโรงงานที่ตนเองไปรับจ้างผลิตผลไม้กระป๋องก็ปิดกิจการ จนใกล้ครบกำหนดเวลาไถ่ถอนที่ดินจากการขายฝาก ก็ยังไม่มีหนทาง สุดท้ายที่ดินของป้าจึงต้องตกเป็นของเจ้าหนี้

ถวายฎีกาคือทางเลือกของคนจะหมดทาง

“ป้าไปขอความช่วยเหลือที่ไหนไม่มีใครช่วยได้เลย ตอนนั้นยังไม่รู้จัก ธนาคารที่ดิน (บจธ.) นะ ป้าคิดว่าน่าจะเป็นหนทางสุดท้ายแล้วที่จะพอมีคนที่จะช่วยให้ที่ดินของป้าคืนมาได้ เลยจะขอลองเขียนหนังสือเพื่อขอทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาในหลวงเพื่อขอพระราชทานความช่วยเหลือดู” ป้าพรทิพย์กล่าว ต่อมา สำนักราชเลขาธิการ (ปัจจุบันคือกรมราชเลขานุการในพระองค์ ) ได้ตอบกลับมาและได้ส่งเรื่องให้ บจธ. เพื่อดำเนินการช่วยเหลือในกรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560

ปลื้มใจ บจธ. ช่วยเหลือต่อเนื่อง

หลังจากที่ป้าได้สุญเสียที่ดินไปแล้วและถอดใจ ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ บจธ. ได้ติดต่อประสานงานกับป้าและเจ้าของที่ดินมาโดยตลอดเพื่อขอเจรจากับผู้รับซื้อฝากเดิมและเจ้าของที่ดินในปัจจุบัน เพื่อขอซื้อที่ดินดังกล่าวคืนจนเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2560 ผู้รับซื้อฝากเดิมและเจ้าของที่ดินในปัจจุบัน ได้ยินยอมให้ความอนุเคราะห์ขายที่ดินคืนให้แก่ ป้าพรทิพย์ฯ ในราคา 500,000 บาท

“ที่ดินตรงนี้เป็นที่ของพ่อแม่ เป็นที่ผืนสุดท้ายแล้ว ถ้าไม่มีที่ตรงนี้แล้วเราก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน หลังจากที่ป้าได้รับหนังสือตอบกลับจากสำนักราชเลขาธิการ ป้าก็ดีใจมากๆ ชีวิตนี้ไม่คิดว่าจะได้ที่ดินของตัวเองคืน  ทีแรกไม่คิดว่าจะมีหน่วยงานไหนช่วยเราได้ เพราะเราไม่มีหลักประกัน ไม่รู้ว่าจะพูดขอบคุณยังไงดี ขอบคุณในหลวง ขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอบคุณ บจธ. จริงๆ ตอนนี้ครอบครัวเราก็ไม่เครียดแล้ว “

ป้าพรทิพย์มีสวนยาง และปาล์มน้ำมัน จึงเลือกปลูกผักผสมผสานในสวนปาล์มไว้กินไว้ขายเป็นรายได้เสริม

บจธ. ต้องอยู่ช่วยคนจนต่อไป

“อยากให้คนที่ตกทุกข์ได้ยากแบบป้าได้รับความช่วยเหลือจาก บจธ. ยิ่งแถวหมู่บ้านเรานี้มีหลายคนเลย เสียที่ดินไปแล้วโครงการนี้ดีมากๆ อยากให้คนรู้จักเยอะๆ ขยายความช่วยเหลือไปทั่วประเทศจะดีมากๆ เลย”

แม้จะปลูกพืชแบบผสมผสานจากที่ได้รับการอบรมศาสตร์พระราชาจาก บจธ. และรับจ้างทั่วไป มีรายได้ไม่มาก แต่มีเงินเหลือพอที่จะชำระค่าธรรมเนียมให้แก่ บจธ. ความสุขกลับมาเยือนครอบครัวของป้าพรทิพย์อีกครั้ง และรู้สึกมั่นคงเพราะยังมีที่ดินของตนเองเป็นมรดกชีวิตต่อไป