เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 เวลา 09.00 น. นายกุลพัชร ภูมิใจอวด ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในการประชุมกลุ่มย่อยกับผู้แทนหน่วยงานระดับนโยบาย ในโครงการจัดทำประเด็นยุทธศาสตร์การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2570) ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เป็นการประชุมผ่านระบบ Application ZOOM ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เป็นประเด็นที่ตรงตามภารกิจของ บจธ. ในการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ซึ่งผู้อำนวยการได้ชี้แจงภารกิจของ บจธ. ตลอดจนวิธีการและผลการดำเนินการที่ผ่านมา เห็นว่าการกระจายการถือครองที่ดินที่ บจธ. ดำเนินการตามภารกิจอยู่นั้น คือมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน โดยให้ประชาชนหรือเกษตรกร มีส่วนร่วมในการดำเนินการทุกขั้นตอน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เกษตรกรส่วนมาก ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยการเช่าที่นาที่ไร่ รับจ้างรายวัน ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง และไม่มีความมั่นคง บจธ. ได้สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มและจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์การเกษตร ประชาชนได้ดำเนินการสำรวจที่ดินที่ต้องการทำการเกษตร ภายใต้หลักเกณฑ์ของ บจธ. มีระบบการบริหารจัดการของวิสาหกิจชุมชน มีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แผนการผลิต – แผนการตลาด บจธ.
จะดำเนินการตามภารกิจในรูปแบบแปลงรวม ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ที่ดำเนินการในที่ดินเอกชนไม่ใช่ที่ดินรัฐดังเช่นที่หน่วยงานอื่นๆ ดำเนินการ ด้วยวิธีการที่ไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นแต่อย่างใด โดยจะเป็นการหนุนเสริมให้การแก้ไขปัญหาการกระจุกตัวของที่ดินและความเหลื่อมล้ำด้านที่ดิน โดยการกระจายการถือครองที่ดินทั้งในรูปแบบการใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยการแบ่งปันจากผู้ที่มีที่ดินแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้แก่เกษตรกรที่มีความต้องการทำการเกษตรแต่ไม่มีที่ดิน (โครงการตลาดกลางที่ดิน) ตามร่างประเด็นยุทธศาสตร์ดังกล่าว บจธ. มีกระบวนการดำเนินงานตามขั้นตอนครบถ้วนและคล่องตัว ในรูปแบบองค์การมหาชน ในปัจจุบัน บจธ. ได้บูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ทั้งนี้ที่ประชุมได้กล่าวขอบคุณและให้กำลังใจขอให้ร่างพระราชบัญญัติที่ บจธ. เสนอในการจัดตั้งองค์กรที่มาทำหน้าที่ลดความเหลื่อมล้ำในที่ดินทำกินผ่านการพิจารณาในขั้นตอนต่างๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน อันจะเป็นประโยชน์ของประชาชนหรือพี่น้องเกษตรกร และประเทศต่อไป